“คิดดี” หรือ “คิดบวก”

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ บัณฑิตใหม่ทุกท่าน

ในโอกาสที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ นี้นะครับ ซึ่งจุลสารฉบับนี้ ตรงกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพอดีนะครับ และเชื่อว่าน้องๆ ทุกคนคงจะได้ทำงาน หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นกันแล้วนะครับ หรือหากมองอีกด้านหนึ่งก็คือว่า น้องๆ เริ่มจะมีความรับผิดชอบสูงขึ้นอีกระดับและกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวแล้ว ผมจึงคิดว่า น่าจะเขียนเรื่องที่เป็นข้อคิดให้กับน้องๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น บทความในวันนี้ จะเป็นเรื่องของการ “คิดดี” หรือ “คิดบวก”

เราคงได้ยินกันเป็นประจำนะครับว่า เราควรจะ “คิดดี” หรือ “คิดในด้านบวก” กันมาบ่อยๆ แต่หลายๆ คนอาจจะบอกว่า พูดนะง่าย แต่เวลาทำนะมันยากนะ ไอ้การที่จะคิดดีนะ ผมขอนำเรื่องที่ พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “หักหอกเป็นดอกไม้” มาลง ให้อ่านกันนะครับ พร้อมทั้งขออนุญาตพระอาจารย์ประสงค์ด้วยครับ เรื่องที่ขอนำมาถ่ายทอด “หนุมานกับมัจฉานุ” ในวรรณคดี “รามเกียรติ์”

หนุมาน บุกกรุงลงกา ก็เอาก้อนหินไปถมทะเลทำสะพานเพื่อจะได้ข้ามไปกรุงลงกา แต่ถมลงเท่าไรก็ไม่เต็ม ไม่เป็นสะพานสักที เลยกระโดดลงน้ำไปดู เจอนางเงือกกำลังพาบริวารขนหินอยู่ใต้น้ำ จึงเกิดการต่อสู้กัน ขณะที่สู้กันไปมานั้น ก็เกิดชอบใจกัน ในที่สุดหนุมานก็ได้นางเงือกเป็นภรรยา จากนั้นหนุมานก็ติดตามพระลักษณ์พระราม ต่อมาพระรามถูกไมยราพลักพาตัวไป เมืองบาดาล หนุมานตามไปช่วย พอลงไปปุ๊บ กลับเจอสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ตัวเป็นลิง หางเป็นปลา ชื่อ “มัจฉานุ” ขวางทางไม่ให้ผ่าน จึงเกิดการต่อสู้กัน

ขณะที่ต่อสู้กันนั้น มัจฉานุ ขว้างอาวุธใส่หนุมานกลับกลายเป็น ข้าวตอก ดอกไม้ พอหนุมานขว้างอาวุธใส่มัจฉานุ กลายเป็นขนมนมเนย ทั้งสองจึงได้สอบถามกันถึงที่มาที่ไป จึงทราบว่า เป็นพ่อลูกกันที่เกิดจากนางเงือกนั่นเอง

พระอาจารย์ประสงค์กล่าวว่าผู้รู้ให้ข้อคิดเรื่องนี้ว่า

เวลาที่เด็กๆ เขามาว่า หรือด่าเรา       ให้เรามองว่าเป็นข้าวตอกดอกไม้ ว่านี่เขารักเรา เขาบูชาเราเขาจึงคอยมาเตือนเรา กลัวว่า เราจะ                                                           เป็นผู้ใหญ่ที่เสียหาย

พอผู้ใหญ่มาว่า มาเตือนเรา                ก็ให้สาธุ ขอบคุณเขา ให้มองว่า คำเตือนนั้น เปรียบเสมือน ขนม นม เนย แสดงว่าเขารักเรา เขา                                                            เป็นห่วงเรา เขากลัวชว่าเราจะเสียหาย

เวลาหัวหน้าเตือนเรา ก็                     ให้มองว่า เป็นขนมนมเนย ได้ประโยชน์

พอลูกน้องมาเตือนเรา                        ก็ให้นึกว่า เป็นข้าวตอก ดอกไม้
แน่นอนว่า น้องๆ ที่กำลังทำงานนั้น จะต้องเจอหัวหน้า หรืออาจจะมีลูกน้อง หากทั้งสองนั้นมาเตือนเรา ก็ขอให้คิดว่า เป็นขนมนมเนยและข้าวตอกดอกไม้ ทำให้จิตใจเราสบาย หากจิตใจเราไปขุ่นมัวต่อคำเตือนหรือติเตียน ย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจหรือความโกรธได้และจะกระเทือนมาถึงหน้าที่การงานที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ และอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ ดังนั้น การฝึกการคิดดีนั้น สามารถที่จะกระทำกันได้ด้วยการตั้งใจเสมอ อันที่จริงแล้ว ผมมีตัวอย่างจากพระอาจารย์ประสงค์ อีกหลายเรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เป็นการนำไปสู่การคิดบวกแต่หน้ากระดาษจำกัด จึงขอยกไปต่อในฉบับหน้า ผมขอยกตัวอย่างเรื่องบางเรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง เช่น “หลวงพ่อดีเนาะ” “ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข” “หนามนิ่มทิ่มขาเป็น” เป็นต้นนะครับ

2012-04_001

 

2012-04 “คิดดี” หรือ “คิดบวก”
913.3 KiB
380 Downloads
รายละเอียด

Comments are closed.