สัมภาษณ์ศิษย์เก่า ผศ. ณัฐ แก้วสกุล

สัมภาษณ์ศิษย์เก่า ผศ. ณัฐ แก้วสกุล

-สวัสดีค่ะ อาจารย์ แนะนำตัวให้ทุกคนได้รู้จักหน่อยค่ะ

-สวัสดีครับ ผมผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ แก้วสกุล หรืออาจารย์ณัฐ ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี และที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญาตรี ปีการศึกษา 2538 สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ วิชาเอก วิศวกรรมงานเชื่อมประกอบ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศร์(ปัจจุบันมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์) หลังจากการสำเร็จการศึกษาได้บรรจุรับราชการครูที่ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ สถาบันสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศร์ ย้ายมาบรรจุที่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี เมื่อปี2539 ประมาณปี 2547 ได้ออกค่ายอาสา

-จุดเริ่มต้นของการทำงานชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี

-ผมมองว่าสาขาที่เรียนมามันมีประโยชน์ มันทำได้ มันสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งปลูกสร้างอาคารเรียนให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและเกิดแก่โรงเรียนได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นอยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ด้วยวิชาชีพที่เรามี ต้องคืนให้แผ่นดินบ้าง คิดว่าจะต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงทำ เมื่อมาทำงานที่ มทร.ธัญบุรี เริ่มออกค่ายครั้งแรกที่ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทำก่อสร้างตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งตอนไปค่ายแรกๆ เหมือนชาวค่าย ไปสร้างอาคารเรียนกับนักศึกษา ทำด้วยกันกินนอนหลับด้วยกัน คิดว่าเราน่าจะใช้เวลาว่างที่มีไปทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง เมื่อปี 2549 ได้รับการชักชวนให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมจนมาถึงปัจจุบัน

-ในฐานะของที่ปรึกษาชมรมมองการออกค่ายอาสาอย่างไรคะ

-เมื่อได้เข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายอาสา ทำให้รู้ว่าตัวเนื้องานจริงๆของงานค่ายอาสา สามารถนำมาเป็นบทเรียนสอนนักศึกษาได้เกือบทุกสาขาจึงได้ปรับรูปแบบการออกค่ายใหม่ให้มีวิชาการมากขึ้นสามารถที่จะฝึกนักศึกษาได้ ให้นักศึกษาได้ลงปฏิบัติจริง ให้สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยที่เราจะสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติค่ายอาสาเป็นกิจกรรมหลักในการพัฒนาเด็ก โดยที่เราแทบจะไม่ต้องซื้อหรือหาวัสดุฝึกเลย นักศึกษาได้ลงมือฝึกจริง เกิดเป็นตัวอาคาร สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง อยากต่อยอดเพิ่มกิจกรรมให้ค่ายอาสา เป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือโรงเรียนได้ครบวงจรมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะตัวอาคารอย่างเดียวอาจจะต่อยอดไปถึงการอบรมครูที่อยู่ในโรงเรียนนั้นๆ รวมไปถึงการพิจารณาให้ทุนนักศึกษาที่เรียนเก่งในพื้นที่ค่อนข้างห่างไกล ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยผ่านโครงการ ผมมองว่ามันเป็นการสร้างโอกาสทั้งเด็กที่กำลังจะเรียนหรือเด็กที่จะต่อยอดในอนาคต

-กว่า 10 ปี ที่อาจารย์ ทำงานตรงนี้ มีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานอะไรบ้างคะ สำหรับชาวค่ายอาสา

-มีทุกปีครับ แล้วก็จะทวีความท้าทายมากขึ้นทุกปี เกี่ยวกับลักษณะอุปนิสัยของเด็กๆ ที่จะเข้ามา ในยุคที่ต้องกระตุ้นให้ทำงานต้องปลุกจิตสำนึกนิดหน่อยเพื่อให้เขาได้ขยับตัว มีส่วนร่วมทำงานกับเพื่อน ซึ่งนี่คือความแตกต่างของเด็กสมัยก่อนกับเด็กในปัจจุบันที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ยิ่งถ้าไม่มีโครงการพวกนี้ผมมองว่ากว่าจะปลูกสร้างกระตุ้นจิตอาสาได้ค่อนข้างยาก และเด็กกลุ่มนี้ต่อไปในอนาคตคือบุคลากรของประเทศ มองว่าต้องกระตุ้นหนักกว่าเดิมเพิ่มแรงกระตุ้นมากขึ้นอย่างที่ว่าอาจจะต้องเป็นรายวิชา ต้องบังคับให้เขาเป็นจิตอาสาก่อน ให้ทำจนกว่าจะรู้รับผิดชอบ ได้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีทำเพื่อคนอื่นแล้วถึงจะได้เกิดความตระหนัก

-ตลอดการทำงานค่ายอาสาให้อะไรกับอาจารย์บ้างค่ะ

-ค่ายอาสาเปลี่ยนผมไปเป็นคนละคน จากคนที่เคยอยู่แต่เรื่องใกล้ตัว สอนหนังสือดูงานรับผิดชอบที่เป็นงานปกติ กลายเป็นคนที่มองคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นคนที่มององค์กรมากขึ้นและมองว่าถ้าไม่มีองค์กรคงไม่มีเรา ไม่ต่างอะไรถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยของเราอาจพลาดโอกาสในการทำงานอาสา การออกค่ายอาสาได้นำความรู้ความสามารถมาสร้างสรรค์ และแบ่งบันให้สังคม ผมยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นชาวค่าย เพราะว่าไม่รู้ว่าเราทำรูปแบบค่ายถูกต้องหรือเปล่า ไม่กล้าใช้ว่าจิตอาสาผมใช้คำว่าทดแทนคุณแผ่นดินดีกว่า เพราะว่าเราเข้าเป็นข้าราชการมีความสามารถอย่างไร ช่วยอะไรกับสังคมส่วนร่วม และประเทศนี้ได้จะทำต่อไป

-สุดท้ายให้อาจารย์พูดถึงคนมาทำกิจกรรมจิตอาสา ชักชวนหน่อยค่ะ

-ในการทำกิจกรรมเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแต่มันมีกิจกรรมอีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่สร้างโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมอะไรที่เป็นประโยชน์แก่สังคมประโยชน์เพื่อส่วนรวม เช่นเดียวกับ ตูน บอดี้สแลม ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดี ได้ทั้งสุขภาพได้ทั้งประโยชน์ที่เกิดแก่สังคมส่วนร่วม ถ้าได้กิจกรรมแบบนี้มาทำบ่อยๆ และต่อเนื่อง เห็นภาพที่ชัดเจนผมว่าสังคมจะสมบูรณ์ขึ้นนะ การที่จะหมกมุ่นคิดอยู่แต่เรื่องตัวเอง เรื่องส่วนตัวเป็นที่ตั้งและสุดท้ายก็ไม่ไปไหนเลย ในการสร้างจิตอาสาให้คน อย่าเรียกจิตอาสาเลย เรียกว่าจิตสำนึกดีกว่า เพราะว่าจิตอาสามันอาจจะฉาบฉวย แต่ถ้าสร้างจิตสำนึกต่อเนื่องจนเป็นธรรมชาติไปเเล้วบุคคลนั้นก็จะทำประโยชน์แก่ส่วนร่วมเป็นหลักพยายามเเนะและเชิญชวนว่าทำเถอะครับพวกกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของสังคมพยายามทำเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวคุณจะกลายเป็นคนที่มีจิตอาสาโดยธรรมชาติครับ

Comments are closed.